Urban Design Guidelines : Downtown Galt

Uma Phanita Surinta
3 min readJun 11, 2019

--

ข้อเสนอแนะแนวทางการออกแบบของย่านใจกลางเมือง Galt

ย่านใจกลางเมืองเก้าท์ (Downtown Galt) ตั้งอยู่ในเขตเมืองเคมบริดจ์ (Cambridge) รัฐออนแทรีโอ (Ontario) ประเทศแคนาดา (Canada) เป็นเขตเมืองเก่าที่มีภูมิประเทศสวยงาม มีแม่น้ำไหลผ่านสองสาย แม่น้ำแกรนด์ (Grand river) และแม่น้ำสปีด (Speed River) ขนาดของพื้นที่พอเหมาะกับการเดิน เป็นย่านที่รองรับกิจกรรมทางธุรกิจ การศึกษา ศูนย์กลางทางวัฒนธรรมและการบริหารของเมืองเคมบริดจ์

ในย่านนี้มีอาคารประวัติศาสตร์ที่สร้างจากหินปูน มีอายุยาวนานมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 18 ในเมืองมีทางเดินทอดยาว 58 กม. ส่วนใหญ่เป็นทางเดินริมแม่น้ำ มีทัศนียภาพสวยงาม เป็นหน้าผาหินปูอายุกว่า 400 ล้านปี นอกจากนี้ ย่านเก้าท์ยังเป็นเขตที่อยู่ดั้งเดิมของชาวคริสต์นิกายโปแตสแตนท์ที่ปัจจุบันยังคงมีร่องรอยที่สังเกตได้

วัตถุประสงค์ของการออกแบบเมืองในย่าน Downtown Galt

  1. การรักษาอัตลักษณ์ของพื้นที่และสนับสนุนการใช้งานแบบผสมผสานของย่านกลางเมือง
  2. ฟื้นฟูพื้นที่ด้านหลังอาคารเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับเมือง
  3. ส่งเสริมกิจกรรมของย่านร้านค้าริมถนนโดยการอนุญาตให้มีที่พักอาศัยหรือสำนักงานบนพื้นที่ชั้นสอง
  4. สร้างการเชื่อมต่อของพื้นที่สาธารณะในย่าน
  5. สร้างบรรยากาศที่ดีให้กับการเดินเท้าด้วยการออกแบบและการวางผังที่สัมพันธ์กับพื้นที่จอดรถ
  6. ศึกษาโอกาสในการเพิ่มจำนวนผู้อยู่อาศัยและทำงานในเขตเมืองเก่าไปพร้อมกับการเก็บรักษาอาคารที่มีอัตลักษณ์
  7. ฟื้นฟูทางเดินเท้าและทางจักรยานให้สามารถเชื่อมต่อได้ตลอดทั้งย่าน

ข้อเสนอแนะแนวทางการออกแบบของย่าน Downtown Galt

แบ่งออกเป็นสี่บท

บทที่ 1 บทนำ กล่าวถึงสภาพโดยรวมของเมือง บริบทของพื้นที่ วิสัยทัศน์ในการพัฒนา บทบาทของเอกสารแนวทางในการออกแบบของเมือง

บทที่ 2 การศึกษาบริบทและโครงสร้างทางกายภาพของพื้นที่ ประกอบด้วย การใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land use) พื้นที่จอดรถ เส้นทางคมนาคม ระบบขนส่งมวลชน ทางจักรยานและทางเท้า องค์ประกอบที่สะท้อนโครงสร้างของเมือง เช่น มุมมองที่สำคัญ ถนน พื้นที่สาธารณะ กลุ่มอาคารและพื้นที่ว่าง เป็นต้น

บทที่ 3 ข้อเสนอแนวทางในการออกแบบ (Urban Design Guidelines) ซึ่งแบ่งออกเป็นห้าองค์ประกอบ ได้แก่ 1)ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับลักษณะของอาคารอนุรักษ์ 2)ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประเภทของอาคารใหม่ 3)ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการออกแบบอาคารใหม่ 4)ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับรูปแบบของป้ายและสัญลักษณ์ 5)ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับทางเดินเท้า ที่จอดรถ และอุปกรณ์ประกอบ

บทที่ 4 การตรวจสอบคุณสมบัติ (Development Checklist) เป็นเอกสารที่ใช้ในการตรวจสอบคุณสมบัติตามข้อกำหนดใน Urban Design Guideline โดยเจ้าของและผู้ออกแบบอาคารต้องจัดทำเพื่อประกอบการยื่นขออนุญาตปลูกสร้างอาคาร

ส่วนที่กล่าวถึงข้อเสนอแนะแนวทางการออกแบบจัดอยู่ในบทที่ 3

บทที่ 3 ข้อเสนอแนวทางในการออกแบบ (Urban Design Guidelines)

  1. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับลักษณะของอาคารอนุรักษ์ (Guidelines for Heritage Character Buildings)

ประกอบด้วยข้อกำหนดเกี่ยวกับความสูงของอาคาร ระยะถอยร่น พื้นผิวหน้าอาคาร (facade) รูปแบบของประตูหน้าต่าง รูปทรงหลังคา การเลือกใช้วัสดุ ส่วนประดับอาคาร พื้นผิวด้านหลังอาคาร

แสดงรูปแบบที่เป็นอัตลักษณ์ของอาคารดั้งเดิม
แสดงรูปแบบที่ต้องการอนุรักษ์ของหน้าต่างและพื้นผิวหน้าอาคาร
แสดงรูปแบบที่ต้องการอนุรักษ์ของหน้าต่างและพื้นผิวหน้าอาคาร

2. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประเภทของอาคารใหม่ (Guidelines for New and Infill Building Types)

เป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับรูปแบบของอาคารแต่ละประเภทในเขต Downtown เช่น

ข้อกำหนดของอาคาร แบบผสมผสาน (Mixed-use building) เป็นประเภทของอาคารที่สนับสนุนให้มีในพื้นที่เนื่องจากสอดคล้องกับอาคารดั้งเดิม โดยมีข้อเสนอแนะในการออกแบบ เช่น ให้พื้นที่ด้านหน้าอาคารริมถนนโดยเฉพาะในชั้นหนึ่งอย่างน้อยร้อยละ 60 เป็นผนังกระจกเพื่อเปิดให้คนบนถนนและทางเดินมองเห็นกิจกรรมภายในอาคารเพื่อสร้างความน่าสนใจในการเดินและดึงดูดให้เกิดกิจกรรมค้าขาย

3. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการออกแบบอาคารใหม่ (General Guidelines for New Buildings and Infill)

ประกอบด้วยการเสนอแนะเรื่อง ความสูง ระยะถอยร่น ช่องทางเข้าออก การจัดองค์ประกอบของพื้นผิวด้านหน้าอาคาร รูปแบบและสัดส่วนของพื้นผิวด้านหน้าอาคาร ช่องเปิด รูปทรงหลังคา การเลือกใช้วัสดุ การจัดแสงสว่าง ส่วนประดับที่เลียนมาจากอาคารดั้งเดิม

ข้อเสนอแนะเรื่องความสูงอาคารและระยะถอยร่น โดยกำหนดให้อาคารที่ชิดริมถนนมีความสูง 3 ชั้น

ข้อเสนอแนะเรื่องการรักษาความกลมกลืนของพื้นผิวด้านหน้าอาคาร เพื่อให้อาคารที่สร้างใหม่สามารถแทรกอยู่กับอาคารดั้งเดิมอย่างกลมกลืนและไม่ทำลายทัศนียภาพของย่านโดยรวม ใช้การกำหนดความต่อเนื่องของเส้นตามแนวนอนและการเว้นจังหวะของเส้นตามแนวตั้ง

แสดงแนวทางเสนอแนะเรื่องการเว้นจังหวะตามแนวตั้งและความต่อเนื่องของเส้นตามแนวนอน

จากรูปข้างต้น เป็นการแสดงแนวทางเสนอแนะเรื่องการเว้นจังหวะตามแนวตั้งและความต่อเนื่องของเส้นตามแนวนอน โดยให้อาคารใช้รูปแบบของผนังด้านหน้าที่มีความสมดุลสองข้างเท่ากัน (Symmetrical balance) มีการแบ่งระยะทั้งแนวตั้งและแนวนอนด้วยระยะที่สัมพันธ์กับอาคารเดิม โดยมีการลดทอนรูปแบบและเลือกใช้วัสดุที่มีในท้องตลาดปัจจุบัน

4. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับรูปแบบของป้ายและสัญลักษณ์ (Signage)

ส่วนประกอบสำคัญของร้านค้าคือป้ายสัญลักษณ์ที่นอกจากจะบอกชื่อร้านที่แตกต่างกันแล้ว ยังแสดงออกถึงเอกลักษณ์ สะท้อนถึงสินค้าและบริการ และประการสำคัญคือทำให้ร้านค้าเป็นที่จดจำ

แสดงตำแหน่งที่อนุญาตให้ติดตั้งป้ายชื่อและป้ายสัญลักษณ์ของร้าน
แสดงตัวอย่างป้ายชื่อร้าน
แสดงตัวอย่างป้ายชื่อร้านและการตัดตั้งไฟส่องสว่าง

5. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับทางเดินเท้า ที่จอดรถ และอุปกรณ์ประกอบ (Pedestrian Areas, Parking and Streetscape Elements)

เพื่อสร้างความสะดวกปลอดภัยและสร้างบรรยากาศที่เชื้อเชิญให้กับการเดิน (Pedestrian-friendly environment) ควรแยกทางเท้าออกจากทางรถยนต์และลดอุปสรรคในการเดิน โดยใช้วิธีการเช่น การจัดพื้นผิวของทางเดินให้เรียบและแยกจากทางรถยนต์อย่างชัดเจน ม้านั่งและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่มีการออกแบบอย่างสวยงาม ไฟแสงสว่างที่พอเหมาะ

ข้อเสนอแนะเรื่องการเชื่อมต่อเส้นทางเดินเท้า จากที่จอดรถไปถึงหน้าร้าน ริมถนน และด้านหลังของอาคาร โดยจัดให้พื้นผิวมีความต่อเนื่อง มีทางลาดและไฟแสงสว่างที่เหมาะสม

ข้อเสนอแนะเรื่องการสร้างบรรยากาศในการเดิน เช่นการเพิ่มพื้นที่สาธารณะหรือลานกลางแจ้งเพื่อเพิ่มกิจกรรมและดึงดูดให้คนเลือกใช้การเดินเท้า จัดตกแต่งพื้นที่เพื่อเพิ่มจุดสนใจบนเส้นทางเดิน

แสดงแนวทางการออกแบบทางเดินเท้าที่เชื้อเชิญการเดิน เช่น ตัดทางเดินผ่านแนวอาคารและใช้พื้นผิว ส่วนประดับ และการเปิดหน้าร้านเพื่อดึงดูดการเดิน (รูปซ้าย) เปิดพื้นที่ส่วนบุคคลให้สามารถเชื่อมกับพื้นที่สาธารณะในบางบริเวณที่สามารถทำได้ (รูปขวา)

ข้อเสนอแนะเรื่องพื้นที่จอดรถ เช่น ควรหลีกเลี่ยงพื้นที่จอดรถขนาดใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่ปิด ใช้ต้นไม้และไม้กระถางหรือการเปลี่ยนวัสดุปูพื้นที่จอดรถเพื่อลดลานคอนกรีตขนาดใหญ่ ลดการรับรู้ถึงความเป็นพื้นที่จอดรถ ควรมีต้นไม้อย่างน้อย 1 ต้นต่อที่จอดรถ 8 คัน เป็นต้น

แสดงแนวทางการออกแบบพื้นที่จอดรถยนต์ การใช้ที่จอดรถริมถนนเป็นแนวป้องกันและแยกทางรถยนต์ออกจากทางเดินเท้าโดยเลือกใช้วัสดุพื้นผิวที่แตกต่างทดแทนการใช้สีเพื่อลดความรู้สึกแบ่งแยก (รูปซ้าย) การจัดภูมิทัศน์ของพื้นที่จอดรถด้วยวัสดุปูพื้นและแนวต้นไม้ เพื่อความสวยงามและบดบังมุมมองไม่ให้สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนจากทางเดินเท้า (รูปขวา)

--

--

Uma Phanita Surinta
Uma Phanita Surinta

Written by Uma Phanita Surinta

Architecture; Urban Architecture; Urban Design

No responses yet