Walkable city
แนวคิดเมืองเดินได้
แนวคิด Walkable city เป็นแนวคิดที่ต้องการส่งเสริมการเดินเท้า (Walk-ability) และการใช้จักรยาน (Ride-ability) ภายในเมือง โดยออกแบบให้เมืองมีองค์ประกอบทางกายภาพที่ส่งเสริมให้คนใช้การเดินเท้าและจักรยานในการสัญจรระยะสั้น สามารถทำได้หลายวิธีทั้งการออกแบบกายภาพ เช่น การทำทางเท้าให้กว้าง มีร่มเงา ไม่มีสิ่งกีดขวาง การทำทางจักรยานที่แยกจากทางรถยนต์เพื่อความปลอดภัย หรือการวางแผนและกำหนดนโยบาย เช่น การส่งเสริมให้เมืองมีการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสาน มีที่พักอาศัยอยู่ในระยะที่สามารถเดินเท้าไปยังที่ทำงานและร้านค้าได้ เป็นต้น
ความหมายของเมืองเดินได้
“เมืองที่ผู้คนส่วนใหญ่ใช้การเดินร่วมกับขี่จักรยานและระบบขนส่งมวลชน ผู้คนเดินสัญจรในชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวก ปลอดภัย เมืองเดินดีจะนำผลดีมาสู่ผู้คนที่อาศัยในเมือง ทั้งในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ช่วยส่งเสริมสภาพแวดล้อม ยกระดับคุณภาพชีวิตและสังคมให้ดียิ่งขึ้น” (http://goodwalk.org)
ประโยชน์ของการสนับสนุนเมืองเดินได้จากรายงานการวิจัย
- การเดินทำให้สุขภาพของคนในเมืองดีขึ้น
- เมืองที่มีสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการเดินเท้าและคนในเมืองใช้การเดินเท้าเป็นหลักในการสัญจร จะช่วยให้การเกิดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และทำให้การส่งเสริมกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์เป็นไปได้ง่ายขึ้น
- ในเขตพื้นที่เมืองชั้นในหรือย่านการค้าที่มีการส่งเสริมให้ใช้การเดินเท้า มีสถิติการเกิดอาชญากรรมและอุบัติเหตุน้อยกว่าในเขตพื้นที่นอกเมืองมากกว่า 20%
- การสนับสนุนให้ย่านการค้าใช้การเดินเท้าเป็นทางสัญจรหลัก ทำให้ค่า GDP สูงขึ้น 38% และค่าเช่าofficeในพื้นที่สูงขึ้น 74%
หลักการสร้างเมืองเดินได้ จากหนังสือ Walkable City โดย Jeff Speck
- จัดระเบียบรถยนต์ การเพิ่มพื้นที่ถนนไม่ได้ทำให้ปัญหาการจราจรบรรเทาลงแต่กลับเป็นปัจจัยเสริมให้มีจำนวนรถยนต์เพิ่มมากขึ้น สิ่งที่ควรทำคือการลดปริมาณรถยนต์บนถนนเพื่อให้ถนนสามารถรองรับการเป็นพื้นที่สาธารณะและดึงดูดให้คนสามารถใช้การเดินเท้าได้อย่างปลอดภัย
- สนับสนุนการใช้ที่ดินแบบผสมผสาน ชุมชนที่มีกิจกรรมการใช้งานพื้นที่ที่หลากหลายนับเป็นปัจจัยที่ส่งผลดีต่อการเดิน เนื่องจากคนที่อยู่อาศัยในชุมชนมีสถานที่ที่สามารถใช้การเดินเท้าได้ เช่น การเดินจากบ้านไปโรงเรียน เดินจากบ้านไปตลาด เป็นต้น
- จัดการพื้นที่จอดรถ ป้องกันไม่ให้พื้นที่จอดรถมีมากจนกีดขวางการเชื่อมต่อของกิจกรรม โดยสามารถจัดเป็นพื้นที่จอดรถร่วมสำหรับอาคารห้างร้านที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน รวมทั้งจัดการกับรถที่จอดริมทางโดยคิดค่าที่จอดรถตามเวลาเพื่อให้สามารถจัดระเบียบพื้นที่ทางเท้าให้เอื้อต่อการเดินเท้าได้อย่างแท้จริง
- สนับสนุนระบบขนส่งมวลชน โดยตระหนักว่าการเดินต้องพึ่งพาระบบขนส่งมวลชนที่ดี ที่สามารถพาคนไปยังพื้นที่ต่างๆที่อยู่นอกระยะการเดินเท้าได้
- ป้องกันพื้นที่ทางเท้า โดยจำกัดพื้นที่สำหรับรถยนต์หรือทำให้วิ่งช้าลง ถนนบางสายโดยเฉพาะที่ผ่านย่านชุมชนหรือย่านการค้าควรมีช่องทางการสัญจรที่จำกัดเพียงสองช่องทาง เพื่อไม่ให้รถยนต์ใช้ความเร็วหรือหลีกเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่นหากต้องการทำความเร็ว นอกจากนี้การจัดให้มีที่จอดรถริมทางยังสามารถเป็นแนวป้องกันทางเท้าออกจากถนนได้
- ส่งเสริมการปั่นจักรยาน โดยมีการจัดเส้นทางปั่นที่ปลอดภัยและใช้ร่วมกับถนนได้
- ออกแบบทางเท้าให้น่าเดิน ทำให้ทางเท้าเป็นพื้นที่รองรับการเดิน มีความกว้างที่พอเหมาะ มีพื้นผิวที่เรียบ ไม่ลื่น ไม่มีสิ่งกีดขวาง และมีความต่อเนื่องของการเดิน
- ปลูกต้นไม้ เพื่อให้ร่มเงากับคนเดิน รวมทั้งช่วยในการลดความร้อนจากผิวถนนและลดมลพิษในอากาศ
- สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเดินเท้า นอกจากความรู้สึกปลอดภัยและสะดวกสบายในการเดินแล้ว ควรเพิ่มบรรยากาศที่ดีในการเดินโดยส่งเสริมให้มีกิจกรรมสองข้างทางที่พอเหมาะ ไม่ล้ำเขตทางเท้า ไม่สร้างของเสียหรือมลพิษ รวมทั้งมีข้อกำหนดควบคุมอาคารสองข้างทางให้มีแนวเขตที่ชัดเจน ไม่ยื่นล้ำทางเท้า มีรูปแบบและความสูงที่ต่อเนื่อง เป็นต้น
- เลือกพื้นที่เป้าหมายที่จะทำการปรับเปลี่ยนกายภาพเพื่อสนับสนุนการเดินเท้า โดยเลือกพื้นที่ที่การเดินจะสามารถส่งเสริมสภาพสังคมและเศรษฐกิจภายในย่าน ทำให้พื้นที่มีการพัฒนาทั้งในด้านกายภาพ การค้าการลงทุน และสร้างการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนได้
ที่มา https://www.citylab.com/solutions/2012/12/10-techniques-making-cities-more-walkable/4047/
ประโยชน์ของการพัฒนาเมืองตามแนวคิดเมืองเดินได้
โครงการสร้างทางจักรยานแยกจากทางรถยนต์บนถนนสายที่ 8–9 เมือง Manhattan ประเทศสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้เมืองมีความปลอดภัยในการสัญจรขึ้น โดยมีสถิติการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุลดลง ร้อยละ 35 บนถนนสายที่ 8 และร้อยละ 58 บนถนนสายที่ 9 นอกจากลดสถิติการเกิดอุบัติเหตุแล้ว การสร้างทางจักรยานยังสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจทำให้ร้านค้าปลีกริมถนนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 49