Green cities
แนวคิดเมืองสีเขียว
การใช้คำว่า Green หรือสีเขียว น่าจะมีที่มาจากสีเขียวของต้นไม้ ถูกนำมาใช้โดยต้องการแสดงถึงการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม หรือการออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น Green corridor (ระเบียงสีเขียว) ซึ่งหมายถึงการเชื่อมพื้นที่สีเขียวด้วยทางเดิน ทางจักรยานหรือระบบขนส่งอื่นที่ไม่ส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อม Green roof/wall (หลังคาเขียว/ผนังเขียว) ซึ่งหมายถึง หลังคาหรือผนังที่ปกคลุมด้วยต้นไม้และได้รับการออกแบบให้เป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อม ช่วยลดความร้อน ลดมลพิษในอากาศ เป็นต้น
การออกแบบและวางผังเมืองตามแนวคิดเมืองสีเขียว (Green cities) เป็นการวางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเมืองโดยยึดหลักการและตัวชี้วัดเมืองสีเขียวที่เป็นข้อตกลงระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิก เช่น European Green City Index ตัวชี้วัดนี้ทำหน้าที่เป็นตัวกำหนดมาตรการในการนำไปสู่ความเป็นเมืองสีเขียวของประเทศในแถบยุโรป ประกอบด้วยไปด้วยตัวชี้วัดทั้งหมดแปดกลุ่ม ได้แก่ การกำหนดระดับคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ระดับการใช้พลังงาน (Energy) จำนวนอาคารที่ออกแบบโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อม (Buildings) ปริมาณของระบบขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Transport) ระบบการจัดการขยะและของเสีย (Waste and land-use) ปริมาณการใช้น้ำและระบบบำบัดน้ำเสีย (Water) ปริมาณไนโตรเจนในอากาศซึ่งแสดงถึงคุณภาพของอากาศ (Air quality) และระบบการจัดการบริหารเมือง (Environmental governance) โดยตัวชี้วัดทั้งแปดหัวข้อมุ่งเน้นการตรวจวัดคุณภาพของสิ่งแวดล้อมเพื่อชี้นำให้ประเทศสมาชิกดำเนินนโยบายพัฒนาเมืองตามวัตถุประสงค์ของเมืองสีเขียว
นอกจากกำหนดตัวชี้วัดแล้ว European Green City Index ยังได้รายงานวิธีการหรือแนวปฏิบัติ 7 ประการ ที่จะนำไปสู่ความเป็นเมืองสีเขียว ซึ่งเป็นผลจากการศึกษาสถิติและข้อมูลเชิงลึกจากประเทศสมาชิก ประกอบไปด้วย
- การบริหารจัดการและการมีผู้นำที่ดี นอกจากการมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นแล้ว การมีผู้นำท้องถิ่นที่เข้มแข็งย่อมสามารถนำพาให้ท้องถิ่นสามารถนำนโยบายนั้นไปปฏิบัติให้เห็นผลได้
- การมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมและบูรณาการองค์ประกอบของสิ่งแวดล้อมทุกด้าน เนื่องจากการดูแลป้องกันเพียงบางส่วนของปัญหาจะไม่สามารถจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้ เช่น การควบคุมและจัดการเรื่องปัญหาการจราจรและระบบขนส่งซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาย่อมไม่สามารถจัดการกับมลพิษทางอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- จากสถิติที่ผ่านมาพบว่าประเทศที่ร่ำรวยมักจะมีคุณสมบัติที่ดีในการเป็นเมืองสีเขียว สาเหตุเนื่องจากประเทศเหล่านี้มีงบประมาณที่สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้สมบูรณ์รวมถึงสามารถใช้งบประมาณในจำนวนที่เพียงพอสำหรับการจัดการและดูแลด้านสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดี ถึงแม้เราจะปฏิเสธไม่ได้ว่าความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเงินจะมีส่วนสำคัญต่อการดำเนินนโยบายให้เป็นผลสำเร็จ สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าโดยเฉพาะในระยะเริ่มต้นของการดำเนินงานคือการมีนโยบายที่มีประสิทธิภาพและการดำเนินตามแผนและนโยบายที่วางไว้อย่างเคร่งครัด
- การมีส่วนร่วมของประชาชนมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ความพยายามในการเป็นเมืองสีเขียวประสบความสำเร็จได้ จากรายงานการศึกษาที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าประเทศที่มีระดับของการเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครเป็นปริมาณมากล้วนมีผลสำเร็จที่ดีตามตัวชี้วัดเมืองสีเขียว
- การใช้เทคโนโลยีอย่างถูกต้อง เช่น เทคโนโลยีที่ช่วยกำจัดขยะอย่างเหมาะสม ช่วยให้การใช้พลังงานเป็นไปอย่างคุ้มค่า หรือช่วยลดความต้องการในการใช้พลังงานสิ้นเปลือง ฯลฯ ล้วนมีส่วนช่วยเพิ่มคุณสมบัติในการเป็นเมืองสีเขียว
- การแก้ปัญหาสุขภาพและภาวะความขาดแคลนสามารถทำไปพร้อมกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น การมีนโยบายให้ชุมชนลดปริมาณขยะและน้ำเสียอันเป็นที่มาของปัญหาสุขภาพ สามารถนำไปสู่สุขภาวะที่ดีและลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะและลดงบประมาณด้านสุขภาพลงได้
- การมุ่งจัดการกับปัญหาการบุกรุกที่อยู่อาศัยหรือชุมชนแออัดควรถูกจัดเป็นเป้าหมายแรกในการดำเนินนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากที่อยู่อาศัยที่ไม่ถูกสุขลักษณะจะนำมาซึ่งปัญหามลพิษจากความบกพร่องในเรื่องการจัดการขยะและน้ำเสีย ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาชุมชนแออัดอาจทำได้ด้วยการจัดระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมและหาวิธีการให้ชุมชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะได้โดยไม่จำเป็นต้องย้ายชุมชน
ตัวอย่างเมืองที่ออกแบบและวางผังภายใต้แนวคิดเมืองสีเขียว
สิงคโปร์
สิงคโปร์มุ่งใช้ประโยชน์จากพื้นที่และทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดอย่างคุ้มค่า โดยในส่วนของการวางแผนพัฒนาพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียวทั้งหมดมีหน่วยงานผู้ดูแลได้แก่ The National Parks Singapore (NParks) สิงคโปร์วางวิสัยทัศน์นำประเทศไปสู่ความเป็นเมืองแห่งสวน (Garden city) ด้วยวิสัยทัศน์ “Let’s make Singapore our Garden” และเพื่อเพิ่มคุณภาพในการใช้ประโยชน์พื้นที่สีเขียว
NParks ได้วางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาไว้หลายประการ เช่น การพัฒนาและใช้ประโยชน์พื้นที่ว่างเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและพื้นที่พักผ่อนให้กับเมือง โดยสร้างเส้นทางเพื่อเชื่อมพื้นที่สีเขียวเหล่านั้นเข้าด้วยกัน เรียกว่า Park Connectors ทางเชื่อมนี้ใช้เป็นเส้นทางเดินและปั่นจักรยาน เพื่อให้ผู้คนได้สัมผัสใกล้ชิดธรรมชาติและสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ระหว่างเส้นทางทั้งในเรื่องประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและระบบนิเวศน์ โดยออกแบบเส้นทางให้สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของพื้นที่ที่เส้นทางพาดผ่านไป เป็นทางเลือกให้คนได้สัมผัสประสบการณ์ที่หลากหลายตามความสนใจ
ที่มา : https://www.nparks.gov.sg/gardens-parks-and-nature
Reykjavik เรคยาวิก / Iceland
Reykjavik ตั้งเป้าหมายที่จะงดใช้ fossil fuelsในปี 2050โดยหันมาใช้พลังงานสะอาดได้จากความร้อนธรรมชาติใต้แผ่นดินที่เรียกว่า Geothermal ในการสร้างความร้อน และน้ำร้อน
Geothermal หมายถึงพลังงานความร้อนที่ได้จากหินใต้ดิน พบในกลุ่มประเทศที่มีภูเขาไฟและตั้งอยู่ใกล้ขอบของแผ่นหินใต้ดิน เช่น Iceland (26%), El Salvador (23%) and the Philippines (18%)
พลังงานความร้อนจากใต้ดินถูกใช้เป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าให้กับเมืองอาคารในเมืองประมาณ95%ถูกเชื่อมเข้ากับระบบทำความร้อนรวมของเมืองที่ใช้พลังงานจากโรงงานgeothermalพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดในเมืองผลิตจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน การใช้ geothermalทำให้Icelandสามารถลดการใช้ถ่านหินไปได้เกือบทั้งหมดและลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้ต่ำกว่า25%ของพลังงานรวมที่ใช้อยู่